
เล่าเรื่องแบบไหน ได้ใจคนดู
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้วิดีโอกลายเป็นพระเอกบนโลกออนไลน์ คือง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้รับสารและเร็วกว่าการต้องนั่งอ่านคอนเท้นท์ที่เป็นบทความเพื่อทำความเข้าใจกับตัวสินค้า สถิติเกี่ยวกับการใช้วิดีโอในการโฆษณายังชี้ว่าลูกค้ากว่า 400 เปอร์เซ็นต์เลือกที่จะดูวิดีโอเกี่ยวกับสินค้ามากกว่าการต้องนั่งอ่านรายละเอียด กลยุทธ์ทางการตลาดเลยต้องหันมาพึ่งสิ่งที่ให้ทั้งภาพและเสียง แต่ในขณะที่ใครๆ ต่างเลือกวิธีนี้กัน แต่ละแบรนด์จะฉีกตัวเองให้โดดเด่นกว่าคนอื่นได้ยังไง
ปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงเพื่อให้เรื่องราวที่เล่าเข้าถึงและดึงความสนใจกลุ่มลูกค้าของแบรนด์นั้นๆ มากที่สุด คือต้องสามารถตอบโจทย์ได้ว่า หากใช้สินค้าตัวนี้แล้ว จะเป็นอย่างไร เพราะลูกค้าแทบทุกรายต้องการทราบว่าเมื่อใช้แล้วจะเกิดผลลัพท์แบบไหนจากการบอกเล่าโดยคนที่เคยใช้มาก่อน การวางเค้าโครงเรื่องจึงต้องมีการพูดถึงประสบการณ์ที่ได้ทดลองใช้ว่าเป็นอย่างไร ปัญหาแบบไหนที่แบรนด์เราสามารถแก้ให้กับลูกค้าได้ดีที่สุดแล้วดึงออกมาเป็นจุดขาย
การสร้างเรื่องที่ทำให้คนดูเกิดความรู้สึกร่วมคืออีกหนึ่งส่วนสำคัญ การตั้งเป้าเนื้อหาที่สามารถดึงอารมณ์ของคนดูให้เข้าถึงคอนเท้นท์ที่นำเสนอ ให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดและเข้าใจคาแรคเตอร์นั้นๆ จะเป็นการสร้างความผูกพันของแบรนด์กับคนดูได้อย่างลึกซึ้ง เช่นหากต้องการเข้าถึงกลุ่มคนที่ชอบดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง การถ่ายทอดคอนเท้นท์ต้องออกแนวกระฉับกระเฉงหรือใช้พละกำลัง กระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้น อาจเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเล่นกีฬาที่มีความท้าทาย การออกกำลังกาย ประชันความเร็ว เข้าถึงไลฟ์สไตล์ออกแนวโลดโผนหรือคนที่มีความแอคทีฟอยู่ในตัว
ที่สำคัญคือการเล่าเรื่องที่ดีต้องไม่ทำให้คนดูรู้สึกว่านี่คือวิดีโอที่เอาแต่ขายของ หลายแบรนด์มักพลาดในเรื่องนี้ หลายทีที่เราได้เห็นแบรนด์มักบอกว่าสินค้าตัวเองนั้นดีและเยี่ยมกว่าคู่แข่งซึ่งมักทำให้ลูกค้าเกิดความรู้สึกติดลบเพราะอาจมองว่าเป็นการโฆษณาเกินจริง การทำให้คนดูได้สัมผัสถึงประสบการณ์จากการใช้สินค้า แล้วปล่อยให้พวกเขาตัดสินเองว่าสินค้าตัวนี้เหมาะกับตัวเองหรือไม่ จะทำให้ลูกค้ารู้สึกดีกับสินค้ามากกว่าการถูกยัดเยียดให้ซื้อ
ยุทธวิธีที่แบรนด์รายใหญ่ไม่ว่าจะเป็น โดฟ, โคคา โคล่า,จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ เลือกใช้จึงไม่ใช่แค่การโฆษณาที่โหมประโคมสรรพคุณของสินค้าเหมือนที่เคยทำ แต่คือการบอกเล่าเรื่องราวที่สามารถจับความสนใจของผู้ชมได้ตั้งแต่ต้นจนจบ และขณะเดียวกันยังสามารถสื่อคีย์ แมสเสจและคุณค่าของแบรนด์ได้อย่างเหมาะสม แม้บางเรื่องที่สื่ออาจจะไม่โดนคนหมู่มาก แต่หากสร้างความรู้สึกร่วมให้กับคนบางกลุ่มก็ถือว่าสิ่งที่สื่อออกมานั้นประสบความสำเร็จได้ในระดับนึง ตัวอย่างเช่นแคมเปญ Real Beauty ของโดฟ ที่เริ่มต้นจากการสำรวจความคิดของผู้หญิงร่วม 3,000 คนใน 10 ประเทศพบว่ามีผู้หญิงเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ที่คิดว่าตัวเองสวย จึงเกิดเป็นการสร้างคอนเท้นท์ให้กับวิดีโอที่กระตุ้นให้ผู้หญิงมีความมั่นใจและรู้สึกดีกับรูปลักษณ์ของตัวเองให้มากขึ้น จนส่งผลต่อยอดขายจาก 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มเป็น 4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพราะเป็นเรื่องราวที่สะท้อนความรู้สึกของผู้หญิงส่วนใหญ่
การเริ่มต้นจากการรู้ว่าทาร์เก็ตกรุ๊ปของโปรดักท์เป็นใคร แล้วหา Insight เพื่อให้เข้าถึงคนกลุ่มนั้น ตลอดจนการทำ Video Listening เพื่อดูว่าคอนเท้นท์แบบไหนที่คนดูทั่วโลกให้ความสนใจ แบบไหนทำแล้วเวิร์ค แล้วค่อยเริ่มต้นวางโครงเรื่อง เพื่อปูไปสู่การถ่ายทอดมุมมองและเรียงร้อยเรื่องราว บอกเล่าเนื้อหาและชี้ให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของสินค้าให้แนบเนียน คือวิธีการทำงานที่ Socializta ทำมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คอนเท้นท์ที่ออกมาเป็นคอนเท้นท์ที่คนอยากดู อยากแชร์ อยากบอกต่อ นำไปสู่การจดจำเรื่องราวของสินค้าและอยากซื้อในลำดับถัดไป








Comments are closed.